คลังร่วมประชุมเอเปก “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ดันพัฒนาระบบชำระเงิน-โอนเงินระหว่างประเทศ
วันที่ 17 มีนาคม 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปก (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) ในวันที่ 17 มีนาคม 2565
ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม โดยมีปลัดกระทรวงการคลังทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ได้แก่
1. การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
โดยในส่วนของภาครัฐนั้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกมีความเห็นว่าการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลัง ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังคงเป็นทางเลือกสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสมาชิกเอเปก และในส่วนของการระดมทุนของภาคเอกชนนั้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ของตลาดทุนทั้งระบบ เพื่อให้สอดรับกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
“ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปก (APEC Finance Senior Officials) หารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปกในเดือนตุลาคม 2565“
2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงิน รวมทั้งการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ในด้านตลาดทุน
ในโอกาสนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้สมาชิกเอเปกแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาการชําระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยให้เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้กรอบการประชุม APEC FMP ประจําปี 2565
ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเขตเศรษฐกิจเอเปกในการส่งเสริมการเชื่อมโยงการโอนเงินหรือการชําระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งช่วยสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ทั้งนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกต่างเห็นพ้องกับข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payment and Remittance) และเห็นว่านอกจากการส่งเสริมเครือข่ายแล้ว ควรให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัย (Cyber security) ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data privacy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 และให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance