ภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และปัญหาการว่างงานในเด็กจบใหม่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา
โดยก่อนโควิดในปี 2562 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 13.49 ล้านล้านบาท จากนั้นในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาที่ 14.04 ล้านล้านบาท ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.2% ขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.1% ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% อยู่ในระดับคงที่จากไตรมาสก่อน
หนี้ครัวเรือนสูง-แห่ซื้อรถพุ่ง
“จินางค์กูร โรจนนันต์” รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.5% เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 6% เนื่องจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหดตัวลง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม
ขณะที่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.6% ลดลงจาก 6.3% ในไตรมาสที่ผ่านมาตามการหดตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตและการปรับลดลงครั้งแรกของสินเชื่อส่วนบุคคลในรอบ 4 ไตรมาส
“แนวโน้มการก่อหนี้ในระยะถัดไป คาดว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากครัวเรือนที่รายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มโดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2564 ช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมามียอดการจองเกินเป้าหมายกว่า 30,000 คัน
แบ่งเป็นยอดจองรถยนต์ 31,583 คัน และรถจักรยานยนต์อีก 3,253 คัน นอกจากนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน (LTV) และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว”
ข้อจำกัดฉุดรั้งเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องให้ความสำคัญกับ 1) การเร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว
อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 2) การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และ 3) การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน
“การก่อหนี้ใหม่ควรส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับครัวเรือน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ครัวเรือนยกระดับทักษะเพื่อให้ได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายสินเชื่อใหม่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
เฝ้าระวัง “ค้างชำระ” 3.6 แสนล้าน
ขณะที่ระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ต้องเฝ้าระวังในระยะถัดไป เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีมูลค่าถึง 3.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 7.05% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากมีปัจจัยอื่นที่กระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้ NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้น
คลังสั่งแบงก์รัฐสางหนี้
ด้าน “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิดมานานกว่า 2 ปีนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังก็พยายามเข้าไปดูแล โดยล่าสุดได้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อแก้หนี้ กยศ., หนี้เช่าซื้อ โดยรัฐบาลประกาศชัดเจนว่า ในปี 2565 จะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่งได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้าไปดูแลปัญหาหนี้สินอย่างต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมาเรามีโครงการพักหนี้ระยะยาวอยู่แล้ว วันนี้เราพยายามให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้ามาแก้ไข โดยจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้หมด แล้วจะดูความสามารถในการชำระหนี้ตามที่กฎหมายให้อำนาจเราทำได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับแบงก์รัฐอย่างชัดเจน และให้ทุกหน่วยงานราชการช่วยกัน
ซึ่งคาดว่าแนวทางต่าง ๆเหล่านี้จะสามารถกดให้ระดับหนี้ครัวเรือนลดต่ำลงมาได้ แต่คงจะค่อย ๆ ลดลง อย่างไรก็ดี การเข้ามาช่วยเหลือเป็นแนวทางที่ชัดเจน ดีกว่าปล่อยค้างไว้ ซึ่งอาจจะเป็นหนี้เสียในอนาคต”
“ยอมรับว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากจีดีพีเติบโตลดลง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย โดยคาดว่าในไตรมาส 4 ของปี 2564 หนี้ครัวเรือนจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงไตรมาส 3 จากจีดีพีปี 2564 ที่ขยายตัวเกินกว่าคาดเล็กน้อย” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
เด็กจบใหม่ว่างงานเพียบ
ส่วนด้านแรงงานนั้น รองเลขาธิการ สศช.ชี้ว่า ในไตรมาส 4 ปี 2564 สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19
ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% รวมถึงปีก่อนหน้าอยู่ที่ 98.0% สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 12.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 25.3 ล้านคน ลดลง 2.1% นอกจากนี้ จำนวนผู้เสมือนว่างงานมีทั้งสิ้น 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 3.2 ล้านคน
“การว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน เป็นการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนที่ลดลง 21.7% อย่างไรก็ดี ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานทั้งหมด
ทั้งนี้ ตัวเลขการว่างงานนักศึกษาจบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดแพร่ระบาด โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในสาขาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ การบริหาร และพาณิชย์ ทั้งนี้ ทุกระดับการศึกษามีอัตราการว่างงานลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปยังมีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 3.22%”
ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนและการว่างงานในเด็กจบใหม่ ไม่ได้มีผลดีต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย ดังนั้น การเข้ามาดูแลแก้ปัญหาอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance